มองบั้งไฟให้เป็นวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์คือกระบวนการคิดบนพื้นฐานของเหตุและผลที่ทำให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ต่างๆ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความสงสัยของมนุษย์ที่มีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน วิถีชีวิตของคนไทยเองก็ผูกพันกับกระบวนการเหล่านี้มาตั้งแต่ในอดีตโดยที่เราไม่ทันได้สังเกต

หลายครั้งที่วิถีชีวิตเหล่านั้นถูกมองข้ามจากสายตาของบุคคลที่มีความรู้ในสายวิทยาศาสตร์ในฐานะที่ความเชื่อดังกล่าวไม่สามารถหาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายกลไกของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ 

ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่แฝงตัวเข้าไปในการดำเนินชีวิตของชาวชนบทตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคือประเพณีการจุดบั้งไฟขอฝนของชาวอีสานที่คนส่วนมากคิดว่าเป็นเพียงความเชื่อของชาวบ้านที่ไม่มีเหตุผลใดมารองรับ แท้จริงแล้วการจุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าโดยหวังให้มีฝนโปรยปรายจากฟากฟ้าลงสู่ไร่นาของเกษตรกรก็มีที่มาจากการอุปนิสัยช่างสังเกตของคนไทยในอดีตนั่นเอง

ก่อนจะลงมือปลูกข้าวแต่ละครั้งชาวนาจะเผานาเพื่อกำจัดวัชพืชและตอซังข้าวไม่ให้ติดผานไถขณะเตรียมดินเพื่อปลูกข้าวครั้งต่อไป หลังการเผานาทุกๆ ครั้งนั่นเองที่ชาวบ้านสังเกตเห็นว่าฝนจะตกตามมาเกือบทุกครั้ง หากจะอธิบายด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ฝนที่ตกลงมานั้นเกิดจากเขม่าคาร์บอนที่ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นแกนหลักในการกลั่นตัวของเม็ดฝน ด้วยเหตุนี้เมื่อปลูกข้าวไปได้ระยะหนึ่งแล้วต้องการน้ำฝนเพื่อผลผลิตที่งอกงามในยามที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกษตรกรจึงหากลวิธีที่จะปล่อยอนุภาคของคาร์บอนขึ้นสู่บรรยากาศอีกครั้งด้วยการจุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าจนกลายมาเป็นประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน