โลกร้อน รู้ทัน รักษาทัน 

มีข้อมูลอ้างอิงจากการสำรวจที่เทือกเขาแอนดีสพบว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเราจะพบยุงที่เป็นพาหะของไข้เลือดออกได้ที่ระดับสูง 3,300 ฟุตจากระดับน้ำทะเล แต่ข้อมูลล่าสุดได้ระบุออกมาว่าที่ความสูง 7,200 ฟุตบริเวณเทือกเขาแอนดีสก็สามารถพบยุงพวกนี้ได้แล้ว

คำที่หลายๆ คนเคยคุ้นหูกันมาแล้ว แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจกับมัน นั่นก็คือคำว่า “ภาวะโลกร้อน” นั่นเองที่ทำให้ยุงต้องบินสูงขึ้น แต่ไหนแต่ไรมาพวกมันก็อยู่ดีมีสุขที่พื้นโลกนั่นแหละ แต่พออุณหภูมิมันเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มันก็ต้องบินขึ้นไปเพื่อหาอากาศที่เย็นลงให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของมัน แม้ยุงจะไม่ใช่สัตว์ที่มีความรู้แต่มันก็มีสัญชาติญาณที่จะปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

อะไรที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้…?

พลังงานในช่วงคลื่นต่างๆ ที่ดวงอาทิตย์ส่งมายังโลก บ้างก็ถูกสะท้อนออกไป บ้างก็ถูกดูดซับเอาไว้ รังสี UV ถูกชั้นโอโซนดูดกลืนเข้าไป ช่วงคลื่นแสงขาวถูกดูดกลืนโดยรงค-วัตถุต่างๆ ทำให้โลกใบนี้มีสีสันมากยิ่งขึ้น ส่วนที่เหลือคือรังสีอินฟราเรด หรือ IR ซึ่งถูกดูดกลืนโดยโมเลกุลต่างๆ บนพื้นโลก

บรรยากาศของโลกเรานี้เต็มไปด้วยแก๊สชนิดต่างๆ โดยมี N2 และ O2 เป็นตัวหลัก แต่โมเลกุลพวกนี้กลับไม่ดูดซับรังสี IR โมเลกุลแก๊สที่สามารถดูดกลืน IR ได้ก็คือแก๊สที่ไม่ได้อยู่เป็นโมเลกุลของอะตอมคู่ เช่น CO2 ซึ่งมีเพียงร้อยละ 0.33 เท่านั้น

คงจะดีไม่น้อยถ้าโลกเรามี CO2 อยู่เยอะๆ จะได้ดูดกลืนรังสี IR เข้าไปให้หมด ไม่เหลือรังสีพวกนี้มาทำอันตรายต่อพวกเรา แต่กระบวนการดูดกลืนรังสี IR มันซับซ้อนกว่าที่คิด

เมื่อ CO2 ดูดกลืนรังสี IR เข้าไป โมเลกุลจะถูกกระตุ้นขึ้นไปในระดับพลังงานที่สูงขึ้น เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง มันจะลดระดับพลังงานลงมาพร้อมกับคายพลังงานในรูปของ mid-IR ซึ่งเป็นคลื่นที่ให้ความร้อนปริมาณมหาศาล ชั้นของ CO2 ที่ห่อหุ้มโลกเอาไว้จึงเปรียบเหมือนผ้านวมที่ห่มตัวเราท่ามกลางอากาศร้อนกลางเดือนเมษา ปรากฏการณ์เช่นนี้เองที่ทำให้ดาวศุกร์มีอุณหภูมิสูงถึง 457 องศาเซลเซียส เนื่องจากชั้นบรรยากาศร้อยละ 97 ของดาวศุกร์คือ CO2

CO2 ไม่ได้เป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างที่หลายคนคิด แต่ตัวการที่แท้จริงที่ทำให้โลกใบนี้ร้อนขึ้นทุกวันๆ ก็คือ “พฤติกรรมของมนุษย์” ต่างหาก ถึงเวลาแล้วที่จะต้องลดกิจกรรมต่างๆ ที่จะเพิ่มปริมาณ CO2 สู่ชั้นบรรยากาศของเรา….

เริ่มต้นง่ายๆ เพียงแค่…

  เปลี่ยนหลอดไฟในบ้านจากหลอดไส้เป็นหลอดฟลูออเรสเซนส์
  ใช้กระดาษรีไซเคิลถึงแม้ว่ามันจะไม่ขาวน่าใช้ก็ตาม และอย่าลืมที่จะใช้มันให้คุ้มทั้งสองด้าน
  วางแผนก่อนเดินทาง ลดการใช้พลังงานฟุ่มเฟือย
  ลดการใช้พลาสติกทุกชนิด ใช้ภาชนะและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้
  ปลูกต้นไม้ลดคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มออกซิเจนไปในตัว
  ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดเมื่อเลิกใช้และใช้งานเท่าที่จำเป็น
  บอกต่อกับคนที่คุณรู้จักให้ตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้

picture credit: www.freewebs.com/save-our-globe/globalwarming.htm