กลูตาไธโอน ปลอดภัยแล้วหรือ..?

หากเราเข้าไปตามเว็บบอร์ดต่างๆ แล้วเหลือบมองดูโฆษณาแฝงที่เต็มไปด้วยข้อความชวนเชื่อต่างๆ นอกจากโฆษณาลดความอ้วนที่ยังคงได้รับความสนใจจากผู้คนส่วนมาก เรายังจะพบกับกระแส “กลูตาไธโอน” ดังเช่นข้อความต่อไปนี้

“อยากผิวสวยเหมือนดารา กลูตาไธโอนช่วยคุณได้”
“ผิวขาวสวยทั่วเรือนร่าง เห็นผลทันตาใน 3 วัน ด้วยกลูตาไธโอนแบบฉีด”
“ขาวอมชมพูแบบพริตตี้ ด้วยกลูตาไธโอนเพียว 100%”

แล้วกลูตาไธโอนคืออะไรกันแน่…มันสามารถทำให้ผิวขาวขึ้นได้จริงหรือ..?

glutathioneกลูตาไธโอน (glutathione) เป็นสารประกอบชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นได้เอง มีหน้าที่ในการช่วยขจัดสารพิษที่ไม่ละลายน้ำออกจากร่างกายโดยการทำงานร่วมกับตับ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระโดยใช้หมู่ไธออล (-SH) ในการรีดิวซ์อนุมูลอิสระชนิดต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

สารกลูตาไธโอนได้รับการรับรองในการใช้เป็นยารักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทบกพร่อง เช่น โรคพาร์คินสัน ด้วยการฉีดเข้าเส้นหรือเข้าที่กล้ามเนื้อ โดยสารดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเซลล์ประสาทในการตอบสนองต่อสารโดปามีน (dopamine) ในสมอง  การใช้สารกลูตาไธโอนในการรักษาโรคมีผลข้างเคียงที่ทำให้ผู้ใช้ยามีสีผิวที่จางลงจึงทำให้มีผู้คิดนำสารดังกล่าวมาใช้เป็นตัวยาเพื่อหวังผลให้ผู้ใช้มีสีผิวที่ขาวขึ้น

โดยทั่วไปสีผิวของมนุษย์เกิดจากการที่เม็ดสีที่เรียกว่าเมลานิน (melanin) ซึ่งเป็นโพลิเมอร์ประเภทหนึ่งกระจายตัวอยู่ในชั้นผิว เม็ดสีที่อยู่ในผิวหนังถูกผลิตขึ้นจากกรดอะมิโนที่ชื่อว่าไทโรซีน (tyrosine) ซึ่งสามารถสร้างเม็ดสีได้เป็นสองชนิด คือ ยูเมลานิน (eumelanin) และ ฟีโอเมลานิน (pheomelanin)

melanin_tyrosine

ปริมาณของเม็ดสีทั้งสองชนิดที่กระจายตัวในผิวหนังจะมีมากหรือน้อยเป็นลักษณะทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดและวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษ โดยที่ ยูเมลานิน เป็นเม็ดสีที่พบมากในคนผิวสีเข้ม ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตรซึ่งมีความเข้มของรังสี UV มาก ในขณะที่ ฟีโอเมลานิน เป็นเม็ดสีที่พบมากในคนผิวขาว ซึ่งได้รับปริมาณของรังสี UV น้อยกว่า ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งสมมุติฐานเกี่ยวกับเม็ดสีทั้งสองชนิดไว้ว่า ยูเมลานินน่าจะทำหน้าที่ป้องกันอันตรายจากรังสี UV ที่จะทำให้ DNA เกิดการเปลี่ยนแปลงจนนำไปสู่การเกิดเซลล์มะเร็งนั่นเอง

melanin_bw

สารกลูตาไธโอนที่เข้าไปในร่างกายไม่ว่าจะด้วยการฉีดหรือการรับประทาน (มีหลักฐานยืนยันว่าสารกลูตาไธโอนไม่สามารถถูกดูดซึมจากการะเพาะอาหารได้) จะทำหน้าที่กระตุ้นให้กรดอะมิโนไทโรซีนเปลี่ยนรูปไปเป็นฟีโอเมลานินในปริมาณที่มากขึ้น หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าสารกลูตาไธโอนจะเปลี่ยนเม็ดสียูเมลานินให้กลายเป็นฟีโอเมลานินซึ่งส่งผลให้ผู้ที่ได้รับสารดังกล่าวมีสีผิวที่ขาวขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลูตาไธโอนจะช่วยให้ “ผิวขาวสวยทั่วเรือนร่าง เห็นผลทันตาใน 3 วัน” เหมือนดังคำโฆษณา แต่ก็ยังไม่มีผู้ใดออกมาพิสูจน์ว่าสารดังกล่าวจะเป็นอันตรายต่อร่างกายมากน้อยเพียงใด

การมีผิวคล้ำใช่ว่าจะมีผลเสียเสมอไปแต่กลับมีผลดีด้วยซ้ำ เพราะสามารถป้องกันรังสี UV ได้ และที่สำคัญ…คนผิวคล้ำมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งน้อยกว่าคนผิวขาวเสียด้วย